ประเพณีตรัง / การละเล่นพื้นบ้านตรัง
เมืองตรังมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เกิดจาการผสมผสานระหว่างไทยและจีน ส่วนชาวไทยมุสลิมก็ยังถือปฏิบัติตามศาสนาอย่างเคร่งครัด
ประเพณีชักพระวันออกพรรษา
แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ชาว บ้านกับวัดจะร่วมแห่ขบวนพระพุทธรูปประทับบุษบกไปยังสถานที่ต่างๆ เหมือนการต้อนรับพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากดาวดึงส์ ซึ่งมีทั้งชักพระทั้งทางบก และทางน้ำ ประเพณีชักพระทางน้ำที่ขึ้นชื่อของจังหวัดตรัง จัดขึ้นที่บ้านปากปรน ตำบลหาดสำราญ อำเภอหาดสำราญ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ทำอาชีพประมง โดยในวันงานจะเริ่มขบวนเรือชักพระจากคลองในหมู่บ้าน ออกสู่ทะเลไปยังแหลมจุโหย เกาะลิบง เพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคาที่ประทานกุ้งหอยปูปลาให้ในแต่ละปี และลอยพระเคราะห์ออกสู่ปากแม่น้ำตรัง แห่ขบวนเรือกลับมายังหมู่บ้าน มีงานฉลองในตอนกลางคืน
ประเพณีวันสารท
เริ่มจากวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 วันสารทเล็กหรือวันรับเปรต ชาวบ้านจะมีการเตรียมขนม พอง ลา ขนมบ้า เมซัม และข้าวปลาอาหารไปวัด เพื่อไปรับวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เชื่อกันว่าจะถูกปล่อยให้มายังเมืองมนุษย์ 15 วัน จนถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 10 คือวันสารทใหญ่ ซึ่งเป็นวันที่ต้องทำบุญส่งกุศลไปให้ หรือเรียกว่าวันส่งเปรต
ประเพณีเช็งเม้ง
จัดขึ้นในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 5 ของ ทุกปี เป็นประเพณีของชาวจีนที่สอนให้ลูกหลานนับถือบรรพบุรุษ มีการนำอาหารไปเซ่นไหว้ยังหลุมฝังศพ แสดงความเคารพและถือเป็นการพบปะกันในหมู่ญาติพี่น้องปีละครั้ง
ประเพณีวันออกบวช
“วันฮารีรายอ” เป็นวันสุดท้ายของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ตรงกับขึ้น 1 ค่ำ เดือน 10 ของศักราชอิสลาม เป็นวันรื่นเริงไม่ขัดกับหลักศาสนา และเป็นวันที่ญาติพี่น้องกลับมาเยี่ยมครอบครัวกันพร้อมหน้า
ข้อมูล: ตรัง Trang Hand Book.
การละเล่นพื้นบ้าน
หนังตะลุง
ประวัติความเป็นมา
นักวิชาการหลายท่านให้อรรถธิบายว่าหนังตะลุงหรือการละเล่นแบบแสดงเงาเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของมนุษยชาติ ที่แพร่หลายปรากฏทั้งในแถบประเทศยุโรป ตะวันออกกลางและเอเชียอาคเนย์ ดังปรากฏหลักฐานว่า เมื่อครั้งพระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชมีชัยชนะแก่อิยิปต์ได้ใช้หนังตะลุงแสดงเฉลิมฉลองชัยชนะประกาศเกียรติคุณของพระองค์ หนังตะลุงมีแพร่หลายในประเทศอิยิปต์ก่อนพุทธกาล ในประเทศอินเดีย พวกพราหมณ์แสดงหนังบูชาเทพเจ้าและสดุดีวิระบุรุษ เรื่องมหากาพย์รามยณะ เรียกหนังตะลุง "ฉายานาฏกะ" ในประเทศจีนสมัยจักรพรรดิยวนตี่ (พ.ศ.๔๙๕-๔๑๑) พวกนักพรตลัทธิเต๋าได้แสดงหนังสดุดีคุณธรรมความดีของสนมเอกผู้หนึ่งแห่งจักรพรรดิพระองค์นี้ เมื่อพระนางวายชนม์
ในสมัยต่อมาหนังตะลุงได้แพร่หลายเข้าสู่ในเอเชียอาคเนย์ เขมร พม่า ชวา มาเลเซีย และทางภาคใต้ของประเทศไทย ผู้เขียนมีความเชื่อว่าหนังใหญ่เกิดขึ้นก่อนหนังตะลุงน่าจะได้แบบมาจากอินเดีย ลัทธิพราหมณ์มีอิทธิพลต่อคนไทยมาก เราเคารพนับถือฤาษี พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม ยิ่งเรื่องรามเกียรติ์ มีบทบาทต่อคนไทยทั้งประเทศถือเป็นเรื่องขลังและศักดิ์สิทธิ์ หนังใหญ่จึงแสดงเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ เริ่มแรกคงไม่มีจอ คนเชิดหนังจึงแสดงท่าทางประกอบการเชิดไปด้วยและหนังใหญ่เกิดขึ้นก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีหลักฐานอ้างอิงได้ว่ามีนักปราชญ์ผู้หนึ่งเป็นชาวเวียงสระจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นผู้เชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์และทางกวีพระเจ้าปราสาททองทรงรับสั่งเรียกตัวเข้ากรุงศรีอยุธยาได้เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมหาราชครู หรือพระโหราธิบดี ทรงมีรับสั่งให้พระมหาราชครูฟื้นฟูการเล่นหนังอันเป็นของเก่าแก่ขึ้นใหม่ ดังปรากฏในสมุทโฆษคำฉันท์ว่า
"ไหว้เทพยดาอา- |
รักษ์ทั่วทิศาดร |
ขอสวัสดีขอพร |
ลุแก่ใดดังใจหวัง |
ทนายผู้คอยความ |
เร่งตามใต้ส่องเบื้องหลัง |
จงเรืองจำรัสทั้ง |
ทิศาภาคทุกพาย |
จงแจ้งจำหลักภาพ |
อันยิ่งยวดด้วยลวดลาย |
ให้เห็นแก่คนทั้งหลาย |
ทวยจะดูจงดูดี" |
หนังใหญ่เดิมเรียกว่าหนัง เมื่อมีหนังตะลุงขึ้นในภาคใต้ รูปหนังที่ใช้เชิดเล็กกว่ามากจึงเรียกหนังที่มีมาก่อนว่าหนังใหญ่ หนังตะลุงเลียนแบบหนังใหญ่ย่อรูปหนังให้เล็กลง คงแสดงเรื่องรามเกียรติ์เหมือนหนังใหญ่ เปลี่ยนบทพากย์เป็นภาษาพื้นเมือง เครื่องดนตรีจาก พิณพาทย์ ตะโพน มาเป็น ทับ กลอง ฉิ่ง โหม่ง โองการบทพากย์พระอิศวรหนังตะลุงก็ยังนำมาใช้อยู่ตอนหนึ่งว่า
"อดุลโหชันชโนทั้งผอง |
พิณพาทย์ ตะโพน กลอง |
ข้าจะเล่นให้ท่านทั้งหลายดู" |
|
เครื่องดนตรีหนังตะลุงไม่มีพิณพาทย์ ไม่มีตะโพนใช้เลย แต่เพราะเลียนแบบหนังใหญ่ จึงติดอยู่ในโองการร่ายมนต์พระอิศวร
ภาคใต้อยู่ระหว่างภาคกลางกับมาเลเซียและชวา หนังตะลุงจึงเอารูปแบบของหนังชวาที่เรียกว่า "วายัง" เข้ามาประสมประสานด้วยมือทั้ง ๒ ของหนังใหญ่เคลื่อนที่ไม่ได้ แต่ของหนังชวาเคลื่อนไหวได้ อย่างน้อยมือหน้าเคลื่อนที่ได้ รูปหนังตะลุงมือทั้ง ๒ เคลื่อนที่ เช่น รูปตลก รูปนาง ๒ แขน รูปทั่วไป มือหน้าเคลื่อนที่ รูปหนังชวาให้มีใบหน้าผิดจากคนจริง หนังตะลุงเลียนแบบ ทำให้หน้ารูปตลกผิดจากคนจริง เช่น นายหนูนุ้ยหน้าคล้ายวัว นายเท่งหน้าคล้ายนกกระงัง นายดิกมีปากเหมือนเป็ด เป็นต้น
หนังตะลุงเกิดเมื่อใด นักวิชาการถกเถียงกันมาก แต่ผู้เขียนค่อนข้างจะแน่ใจว่า หนังตะลุงเกิดขึ้นประมาณปลายสมัยรัชกาลที่ ๒ ด้วยเหตุผลดังนี้
๑.สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่นิยมแต่งกลอนแปด ส่วนมากเป็นลิลิต โคลง กาพย์ พอจะมีตัวอย่างกลอนแปดคือเรื่องศิริบูลย์กิติ แต่เพิ่งมาแพร่หลายสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อาจารย์เปลื้อง ณ นคร กล่าวเรื่องศิริบูลย์กิติไว้ว่า "กลอนแปดสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น เพิ่งเริ่มไหวตัว ยังหาเป็นแบบประพันธ์ที่นิยมกันนักไม่" ยิ่ง ในภาคใต้ วรรณกรรมพื้นบ้าน ที่เป็นของรุ่นเก่าแก่ ล้วนแต่งเป็นกลอนกาพย์ทั้งสิ้น เราพอจะได้แบบกลอนแปดเมื่อหนังสืออุณรุทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๑ เกิดขึ้น กลอนแปดเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายกว้างขวาง เมื่อสุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีออกเผยแพร่แล้ว อย่างไรก็ตามเรื่องกากี รามเกียรติ์ อิเหนา สังข์ทอง มีลักษณะคล้ายกลอนแปด หนังตะลุงที่นิยมขับร้องกลอนแปดเป็นพื้น พอจะถือเป็นแบบได้
๒.ในบทละครเรื่องสังข์ทองของรัชกาลที่ ๒ มีคำกลอนตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า
"เจ้าเงาะนอนถอนหนวดสวดสุบิน เล่นลิ้นละลักยักลำนำ"
ในหนังสือสุบินคำกาพย์ ได้กล่าวถึงการเล่นหนังตะลุงไว้ดังนี้
"สมเด็จภูธร ให้เล่นละคร โขนหนังมโนห์รา"
ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ให้ความเห็นว่า หนังที่เล่นคู่กับมโนห์รา ไม่ใช่หนังใหญ่ น่าจะหมายถึงหนังตะลุง เรื่องนางแตงอ่อน วรรณกรรมท้องถิ่น มีข้อความกล่าวไว้ว่า
"โขนละครหุ่นหนัง โนราร้องดัง รับเพลงยวนดีตีเก้ง"
แสดงว่าในวรรณกรรมเรื่องนี้มีทั้งหนังตะลุงและมโนห์รา และเรื่องนางแตงอ่อน คงแต่งก่อนที่หนังมีชื่อใหม่ว่าหนังตะลุง
หลังจากภาคใต้เข้าไปเล่นในกรุงเทพฯครั้งแรกสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้า อยู่หัวโดยพระยาพัทลุง (เผือก) นำไปเล่นที่แถวนางเลิ้ง หนังที่เข้าไปครั้งนั้น ไปจากจังหวัดพัทลุง คนกรุงเทพฯจึงเรียกหนัง "พัทลุง" ต่อมาเสียงเพี้ยนเป็นหนังตะลุง หนังที่เข้าไปกรุงเทพฯครั้งนั้น น่าจะเป็นหนังโรงที่ ๓ สืบจากหนังหนุ้ยโรงที่ ๑ หนักทอง หนังก้อนทอง เล่นคู่กันโรงที่ ๒ ดังบทไหว้ครูหนังแต่งโดยนายลั่นตอนหนึ่ง กล่าวไว้ว่า
"นายทองเกื้อที่สามขึ้นตามต่อ |
วิชาพอเชิดยักษ์ชักฤาษี |
มุตโตสดศัพท์เสียงสำเนียงดี |
รูพาทีโอดครวญรูปนวลนาง |
เขาออกชื่อลือดังหนังทองเกื้อ |
เล่นดีเหลือจนรุ่งพุ่งสว่าง |
มีวิชาพากายไม่จืดจาง |
จนชาวบางกอกรับไปนับนาน" |
ดูถึงฝีมือนายช่างแกะรูปหนัง น่าจะเลียนแบบรูปภาพเรื่องรามเกียรติ์ ที่ผนังกำแพงวัดพระแก้ว เพราะหนังรุ่นแรกล้วนแสดงเรื่องรามเกียรติ์เป็นพื้น ช่างแกะรูปหนังคงถ่ายทอดแบบมาในสมัยรัชกาลที่ ๒ หนังตะลุงโรงแรก ของภาคใต้เกิดขึ้นที่จังหวัดใด นักวิชาการยังหาข้อยุติไม่ได้ ผู้เขียนเป็นชาวพัทลุง ไม่ได้ช่วงชิงให้หนังตะลุงเกิดที่พัทลุง แต่เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว หนังโรงแรกน่าจะเกิดที่พัทลุง โดยมีข้ออ้างอิงดังนี้ ๑.ถ้านายหนุ้ย นายหนักทอง นายก้อนทอง เป็นนายกองช้าง เดินทางระหว่างนครศรีธรรมราชกับเมืองยะโฮ ต้องผ่านพัทลุง เพราะผ่านทางสงขลาไม่ได้ มีทะเลสาบตอนออกอ่าวไทยกั้นขวาง การหยุดพักกองช้าง ก็น่าหยุดพักที่พัทลุงมากกว่าหยุดพักที่สงขลา ๒.การตั้งชื่อคน พัทลุง ชื่อหนุ้ยกันมากทั้งผู้หญิงและผู้ชาย หนุ้ย หมายถึงเด็กเล็กๆ ถ้าเป็นผู้ชายก็เรียกว่าอ้ายหนุ้ย อ้ายตัวหนุ้ย ถ้าเป็นผู้หญิงก็เรียกว่าอีตัวหนุ้ย อีหมานุ้ย อีนางหนุ้ย เด็กที่มีอายุ ๗-๘ ปี แล้วยังงอแงกับพ่อแม่เรียกว่าทำหนุ้ย แม้ในปัจจุบันผู้ชายที่เรียกชื่อว่านายไข่หนุ้ยยังมีอีกจำนวนมาก นายหนุ้ยหนังโรงแรกจึงน่าจะเป็นชาวพัทลุง ๓.จากบทไหว้ครูของนายลั่น ตอนหนึ่งที่กล่าวว่า
"ออกโอษฐ์อ้าสาธกยกนิทาน |
เป็นนับนานหนังควนแต่เดิมมา |
ถิ่นที่อยู่แหลมมะลายูทิศตะวันออก |
เป็นบ้านนอกอาคเนย์บูรทิศา |
ชื่อบ้านควนเทียมทิมริมมรรคา |
ถางไร่ป่าปลูกผลตำบลนาน |
มีพวกแขกปนไทยในบ้านนี้ |
อยู่เป็นที่เป็นถิ่นบุตรหลินหลาน |
แต่นายหนุ้ยคนไทยใจเชี่ยวชาญ |
หัดชำนาญตีทับขับเป็นกลอน |
แล้ววาดรูปขูดแกะแลพิลึก |
ช่างโตถึกเรียนรู้ไม่ครูสอน |
รู้ต่างต่างอย่างเทพสิงหรณ์ |
ได้ฝึกสอนเริ่มชิดติดต่อมา" |
ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการเกิดหนังขึ้นนั้น พัทลุงตั้งเมืองที่เขาไชยบุรี ต.บ้านควนมะพร้าว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมืองในสมัยนั้น มีเส้นทางใหญ่ผ่านทางทิศเหนือบ้านควนมะพร้าว จากลำปำไปจังหวัดตรังสำหรับเป็นทางช้างเดินเท้า เส้นทางนี้คือ ถนนพัทลุงตรังในปัจจุบัน พระยาบังส้นผู้ครองเมืองเป็นแขก จึงมีแขกจากปัตตานีมาตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดพัทลุงทั่วไป นานเข้าลูกหลานก็มีวัฒนะธรรมคล้ายคนไทย พระยาพัทลุง (ขุน) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากสุไลมานได้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา ที่บ้านควนมะพร้าวจึงมีพวกแขกปะปนอยู่ด้วย หนังนุ้ยน่าจะเป็นชาวบ้านควนมะพร้าว จึงเรียกหนังตะลุงสมัยนั้นว่า "หนังควน" ๔.นักวิชาการหลายท่าน เห็นพ้องกันว่าหนังทองเกื้อโรงที่ ๓ ที่แสดงที่กรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นหนังที่พระยาพัทลุง (เผือก) นำไปจากเมืองพัทลุง ขณะนั้นพัทลุงตั้งเมืองอยู่ที่ลำปำแล้ว บ้านควนมะพร้าวอยู่ห่างจากลำปำไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๒ กิโลเมตร เนื่องจากพระยาพัทลุง (เผือก) มีอายุมากแล้ว รัชกาลที่ ๓ จึงโปรดเกล้าให้รับราชการที่กรุงเทพฯ พระราชทานที่บ้าน สนามควาย (บริเวณตลาดนางเลิ้งในปัจจุบัน) เป็นที่อยู่อาศัย หนังทองเกื้อชาวบ้านควนมะพร้าว ใกล้ชิดกับพระยาพัทลุง (เผือก) มาก ไปอยู่กรุงเทพฯ เป็นเวลานานปี ดังบทไหว้ครูว่า
"มีวิชาพากายไม่จืดจาง จนชาวบางกอกรักไปนับนาน"
๕.จากหนังควนเป็นหนังตะลุง มีเหตุผลตามข้อ ๔ แล้ว สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ในตำนานละครอิเหนาว่า พวกบ้านควนมะพร้าว แขวงจังหวัดพัทลุง คิดเอาหนังแขกชวามาเล่นเป็นเรื่องไทยขึ้นก่อน แล้วจึงแพร่หลายไปที่อื่นในมณฑลนั้น เรียกกันว่าหนังควน เจ้าพระยาสุรวงศ์ ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) พาเข้ามากรุงเทพฯ ได้เล่นถวายตัวที่บางปะอินเป็นครั้งแรก เมื่อปีชวด พ.ศ.๒๔๑๙ แม้พระองค์จะทรงกล่าวไว้ว่าหนังตะลุงเป็นของใหม่ เพิ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้นออกจะค้านที่พระองค์ทรงบันทึกไว้ แต่ลองคิดถึงความเป็นจริง หนังตะลุงที่กล้าเล่นถวาย ต้องฝึกฝนมาอย่างชำนาญ มีครูหนังมาก่อนแล้ว หนังตะลุงจึงเกิดขึ้นก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ แน่นอน ๖.จังหวัดพัทลุงเสมือนหนึ่งเป็นศูนย์กลางของจังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง และสงขลา เมื่อเกิดหนังตะลุงขึ้นที่พัทลุงก็แพร่หลายไปยังจังหวัดใกล้เคียงได้ง่าย จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ จนถึงปัจจุบัน มีคณะหนังตะลุงเป็นจำนวนมาก จากเหตุผลดังกล่าวแล้ว น่าจะได้ข้อยุติว่าใครเป็นหนังตะลุงโรงแรก เกิดขึ้นเมื่อใด ทำไมจึงมีชื่อว่า "หนังตะลุง" นอกจากหนังตะลุงเป็นศิลปะพื้นเมือง ของภาคใต้แล้ว ยังแพร่หลายไปยังภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน ทำนองพากย์และเครื่องดนตรีประกอบการเชิด ผิดแผกแตกต่างกันไปตามสำเนียงภาษา ตามความนิยมของภาคนั้นๆ และไม่มีหนังตะลุงจำนวนมากเหมือนในภาคใต้
ที่มา:http://www.moradokthai.com
มโนราห์
จากคำบอกเล่าของขุนอุปถัมภ์นรากร (พุ่ม เทวา)
พระยาสายฟ้าฟาดเป็นกษัตริย์ครองเมืองๆหนึ่ง มีมเหสีทรงพระนามว่าพระนางศรีมาลา ทั้งสองพระองค์มีบุตรด้วยกันองค์หนึ่งทรงพระนามว่า นวลทองสำลี วันหนึ่งหลังจากนางนวลทองสำลีตื่นจากบรรทมและ ยังไม่ทันที่จะชำระพระพักตร์ก็ได้ไปยืนระลึกถึงใน สุบินนิมิตที่ได้มีมา และพระนางก็สามารถจำได้จนหมดสิ้น จากการทรงยืนนิ่งอยู่เช่นนั้น ทำให้พวกสาวใช้สงสัยและถามพระนางว่า เพราะเหตุอันใดพระนางจึงไม่ทรงชำระพระพักตร์ ทั้งๆที่ตื่นบรรทมแล้ว พระนางตรัสว่า เมื่อคืนนี้ฝันแปลกมาก ฝันแปลกอย่างที่ไม่เคยฝันมาก่อนเลย แล้วพระนางก็ทรงเล่าความฝันนั้นให้พวกสนมฟังว่ามีเทพธิดามาร่ายรำให้ดู การร่ายรำนั้นรำทั้งหมด ๑๒ ท่า เป็นท่ารำที่สวยงามมากน่าชม มีเครื่องประโคมดนตรี คือ กลอง ทับ โหม่ง ฉิ่ง ปี่ และ แตร การประโคมดนตรีลงกับท่ารำเป็นจังหวะ และบัดนี้พระนางก็ยังจำท่าต่างๆเหล่านั้นได้ แล้วพระนางนวลทองสำลีก็ทรงร่ายรำตามแบบที่ในฝันนั้นทันทีเป็นที่ชอบใจของพวก สาวใช้เป็นอย่างยิ่ง และพระนางก็ได้สั่งให้สาวใช้ทำเครื่องประโคมตามที่เห็นในฝันนั้น การประโคมก็ทำตามจังหวะการรำเหมือนในฝันทุกอย่าง พระนางได้ฝึกสอนให้พวกสาวใช้ได้ร่ายรำเพื่อเป็นคู่รำกับพระนาง จากนั้นมีการประโคมเครื่องดนตรีและร่ายรำเป็นที่ครื้นเครงในปราสาทของพระนาง เป็นประจำทุกวัน
อยู่มาวันหนึ่งพระนางอยากเสวยเกสรดอกบัวที่ในสระ หน้าพระราชวัง จึงรับสั่งให้นางสนมไปหักเอามาให้ เมื่อพระนางได้ดอกบัวแล้วก็ได้เสวยดอกบัวนั้นจนหมด กาลต่อมาพระนางก็ทรงครรภ์ แต่การเล่นรำโนราก็ยังคงสนุกสนานครื้นเครงกันเป็นประจำทุกวันมิได้เว้น อยู่มาวันหนึ่งการเล่นประโคมและความครึกครื้นนี้ทราบไปถึงพระยาสายฟ้าฟาด พระองค์ทรางสงสัยว่าด้วยเหตุใดที่ปราสาทของพระธิดาจึงมีการประโคมดนตรีอยู่ เป็นประจำ พระองค์จึงได้เสด็จไปทอดพระเนตรให้เห็นจริง เมื่อเสด็จไปถึงก็รับสั่งถามพระนางนวลทองสำลีว่านางไปได้ท่ารำตางๆนี้มาจาก ไหน ใครสอนให้ พระนางก็กราบบังคมทูลว่า ไม่มีใครสอนให้ เป็นเทพนิมิต พระองค์จึงได้รับสั่งให้พระนางรำให้ดู เสียงดนตรีก็ประโคมขึ้นพระนางออกร่ายรำไปตามท่าที่ได้ฝันรวม ๑๒ ท่า ขณะที่พระนางร่ายรำท่าต่างๆอยู่นั้น พระยาสายฟ้าฟาดทรงเห็นว่าที่ครรภ์ของพระธิดาผิดสังเกตสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ จึงมีรับสั่งให้หยุดรำแล้วทรงถามพระนางว่า นางมีครรภ์กับใคร รักชอบกับใคร ใครเป็นสามีของเจ้า ทั้งๆที่ไม่มีผู้ชายคนใดสามารถเข้ามาในพระราชฐานได้เลย พระองค์ทรงถามซ้ำๆ แบบนี้หลายต่อหลายครั้งพระนางก็กราบทูลว่า นางมิได้มีชู้สู่สาวกับชายใดเลย เหตุที่ทรงครรภ์อาจเป็นเพราะเสวยดอกบัวในสระหน้าพระราชวังเข้าไป พระยาสายฟ้าฟาดไม่ทรงเชื่อและว่ามีอย่างที่ไหนกินดอกบังเข้าไปมีท้องขึ้นมา ได้ เรื่องไม่สมจริง และยังได้กล่าวคำบริภาษพระธิดาต่างๆนานา เช่นว่า เป็นลูกกษัตริย์ไม่รักศักดิ์ศรี ทำให้อัปยศขายหน้า นางนวลทองสำลีก็ได้แต่โศกเศร้าร่ำร้อง
ต่อมาด้วยเหตุการณ์ที่เกิด ขึ้นนี้ พระยาสายฟ้าฟาดก็ทรงสอบสวนโดยรับสั่งให้พวกสาวใช้ทั้ง ๓๐ คนเข้าเฝ้าทีละคนและถามว่ามีผู้ชายใดเข้ามาในเขตพระราชฐานนั้นบ้างหรือไม่ นางสนมกำนัลก็กราบบังคมทูลเช่นเดียวกันว่า ไม่มีผู้ชายใดเข้าไปเลย และพระนางก็มิได้รักชอบกับใคร และยืนยันว่าพระนางได้เสวยดอกบัวในสระหน้าพระราชวังเข้าไป พระยาสายฟ้าฟาดยิ่งทรงพระพิโรธหนักขึ้น ถึงกับคิดที่จะฆ่าพระธิดาและสาวสนม แต่เนื่องจากพระนางเป็นลูกในไส้จึงมิได้ทรงกระทำเช่นนั้น เพียงรับสั่งให้อำมาตย์ข้าราชการทำแพ แล้วก็ให้จัดเสบียงอาหารใส่แพเรียบร้อย เมื่อถึงเวลาก็ลอยแพพระนางและสนมทั้ง ๓๐ ไปในทะเล ขณะที่แพลอยไปนั้นลมได้พัดแพไปติดที่เกาะกะชัง เป็นอันว่าพระนางและสาวใช้รอดตายจากธรรมชาติด้วยอำนาจบารมีของเด็กในครรภ์ ที่เกาะกะชังเทวดาได้ชบ (เนรมิต) บรรณศาลาให้อยู่อาศัย พวกสาวใช้ก็ปลูกฟักแฟงแตงกวากินกันไปตามเรื่องพอดำรงชีวิตอยู่ได้
ส่วนนางนวลทองสำลีครรภ์ก็ยิ่งแก่ขึ้นๆทุกวัน (ในบทกาศครูจึงว่าไว้ว่า "เพื่อนๆเขานับปี แต่นางนวลสำลีนับเดือน") จนประสูติพระโอรสและให้นามว่า ด.ช.น้อย (ชื่อสมมุติ) พระนางและพวกสนมอยู่ที่นั่นจน ด.ช.น้อยอายุได้ ๑๐ ปี ระยะ ๑๐ ปีนั้น ด.ช.น้อยได้หัดการร่ายรำโนราจนเป็นที่ชำนาญดี และต่อมา ด.ช.น้อยก็ถามแม่ว่าที่นี่ไม่มีผู้ชายเลยมีแต่ผู้หญิง คนอื่นๆนอกจากนี้ไม่มี แล้วแม่เองแต่ก่อนเคยอยู่ที่ไหน พระนางนวลทองสำลีก็เล่าเรื่องแต่หนหลังให้ฟังแต่ต้นจนจบ ด.ช.น้อยก็อยากไปเมืองของพระอัยกาจึงถามว่าจะไปได้โดยวิธีใด แม่จึงบอกว่าเมื่อลูกอยากไปแม่ไม่ห้ามแต่แม่เองไม่ไปตลอดชีวิตนี้ลูกจะไปก็ จงเอาผ้าผูกไม้แล้วปักยกเป็นธงขึ้น เรือผ่านมาเขาจะแวะรับ ด.ช.น้อยก็ทำตามและเรือก็ได้มารับไปทางเมืองพระอัยกา เมื่อไปถึงท่าเรือซึ่งยังไกลกับพระราชวังมาก ด.ช.น้อยก็ได้เที่ยวรำโนราไปเรื่อย เนื่องจากโนราเป็นของแปลกและไม่เคยมีใครเคยเห็นมาก่อนเลย กอปรด้วยการรำก็ชดช้อยน่าดู คนจึงไปดูกันมาก ยิ่งนานคนก็ยิ่งชวนกันไปดูมากขึ้นทุกที จนข่าวนี้เลื่องลือไปถึงพระราชวัง
พระยาสายฟ้าฟาดทรงทราบแล้วก็เรียกประชาชนมาถามว่า โนราเป็นอย่างไร เป็นคนหรือสัตว์ ดีมากเทียวหรือที่คนนิยมไปดูกันมาก แล้วในที่สุดพระองค์ก็ทรงปลอมพระองค์ไปในกลุ่มชนเพื่อไปทอดพระเนตรโนรา จากการที่พระองค์ได้ทอดพระเนตรนั้นสังเกตเห็นว่า ด.ช.น้อยมีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับพระธิดา ซึ่งได้ลอยแพไปเมื่อ ๑๐ กว่าปีมาแล้ว จึงรับสั่งให้หา พระองค์ตรัสถามว่า เจ้าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ด.ช.ก็ตอบว่า แม่ชื่อนางนวลทองสำลี ส่วนพ่อนั้นไม่ทราบ แม่เล่าว่าได้ตั้งครรภ์เพราะกินดอกบัวพระองค์เห็นว่าเรื่องราวตรงกัน จึงพา ด.ช.น้อยและคณะโนราเข้าไปในพระราชวัง ตอนนี้คนอื้อฉาววิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆนานาว่า ต่อไปจะไม่ได้ดูโนราอีกแล้ว เพราะนายจับไปแล้ว พระยาสายฟ้าฟาดไม่ทรงฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ใดๆทั้งสิ้น คงพาโนราไปพระราชวังท่าเดียว (ตอนนี้พระยาสายฟ้าฟาดทรงทราบแล้วว่า ด.ช.น้อยคือหลาน หรือพระราชนัดดา ส่วน ด.ช.น้อยนั้นรู้มาจากแม่ก่อนแล้ว เป็นอันว่าต่างก็รู้กันทั้งสองฝ่าย) เมื่อถึงพระราชวัง พระยาสายฟ้าฟาดก็ทรงถามว่า แม่เจ้าเดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน ด.ช.น้อยทราบทูลว่าอยู่บนเกาะกะชัง
เมื่อพระองค์ทรงทราบเช่นนั้น จึงมีพระบัญชาให้อำมาตย์จัดเรือไปรับ เมื่ออำมาตย์ไปถึงและเชิญให้พระนางเสด็จกลับพระนครตามพระบัญชา แต่นางปฏิเสธว่าพระราชบิดาได้ตั้งใจจะลอยแพไปเพื่อให้ตาย เหตุไฉนจึงมาเชิญตัวกลับเล่า พระนางจึงสั่งกับอำมาตย์ว่าชาตินี้จะไม่ขอไปเหยียบย่างผืนแผ่นดินของพระราช บิดาอีก และจะขอตายอยู่ที่นี่ พวกอำมาตย์จึงจำต้องกลับไป เมื่อกลับมาถึงพระนครแล้วก็กราบทูลเรื่องราวให้พระยาสายฟ้าฟาดทราบ พระยาสายฟ้าฟาดจึงมีพระบัญชาให้จัดเรือไปรับอีกครั้งหนึ่งและพร้อมรับสั่ง ว่าถ้าเชิญเสด็จไม่กลับก็ให้จับมัดมาให้ได้ เมื่อพวกอำมาตย์กลับไปเกาะกะชังอีกและได้เชิญเสด็จแต่โดยดีไม่ยอมกลับ พวกอำมาตย์ก็จับพระนางมัดขึ้นเรือ (ตอนนี้ในการเล่นโนราในสมัยหลังจึงมีการรำเรียกว่าคล้องหงส์ คือรำเพื่อจับนางนวลทองสำลีเป็นการร่ายรำที่น่าดูมาก) แล้วพามาเฝ้าพระราชบิดา เมื่อเรือมาถึงจะเข้าปากน้ำก็มีจระเข้ขึ้นลอยขวางปากน้ำอยู่ (จระเข้สมัยก่อนชุกชุมมากทุกน่านน้ำ เป็นที่เกรงกลัวของชาวเรือทั่วไป) พวกลูกเรือก็ทำพิธีแทงจระเข้จนถึงแก่ความตายแล้วเรือจึงเข้าปากน้ำได้ เมื่อนำนางนวลทองสำลีเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชบิดาแล้ว พระราชบิดาได้ทรงขอโทษในเรื่องที่ได้กระทำไปในอดีต ขอให้พระนางลืมเรื่องเก่าๆเสียแล้วยกโทษให้พระองค์ด้วย จากนั้นทำขวัญ และจัดให้มีมหรสพ ๗ วัน ๗ คืน ในการมหรสพนี้ก็ได้จัดให้มีการรำโนราด้วย พระยาสายฟ้าฟาดได้พระราชทานเครื่องทรง ซึ่งคล้ายคลึงกับของกษัตริย์ให้กับพระราชนัดดา เพื่อรำทรงเครื่องในงานนี้ ในการนี้พระยาสายฟ้าฟาดก็ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ลูกของนางนวลทองสำลี (เจ้าชายน้อย) เป็น ขุนศรีศรัทธา
เครื่องต้นที่พระราชทานคือ เทริด กำไลแขน ปั้นเหน่ง สังวาล พาดเฉียง ๒ ข้าง ปีกนกแอ่น หางหงส์ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นเครื่องทรงของกษัตริย์ทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าโนราแต่เดิมก็เป็นเชื้อพระวงศ์ ขุนศรีศรัทธาได้สอนรำโนราให้ผู้อื่นเป็นการถ่ายนาฏศิลป์แบบโนราไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระอัยกาโนราจึงได้แพร่หลายต่อไป และต่อมาหลายชั่วคน จนบัดนี้
ที่มา:http://www.moradokthai.com
ลิเกป่า
ประวัติความเป็นมา
อ.ชัยยันต์ ศุภกิจ เรียบเรียง
ลิเกป่า เป็นศิลปะการละเล่นอีกอย่างหนึ่งของชาวปักษ์ใต้และชาวพัทลุง นอกจากหนังตะลุงและมโนรา แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยได้รับความนิยมจากผู้ดูแล้ว แต่ลิเกป่าในพัทลุงก็ยังพอมีอยู่ ลิเกป่ามีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น " ลิเกรำมะนา " ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่สันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจากเรียกตามชื่อเครื่องดรตรีที่ ใช้กลองรำมะนาเป็นหลักในการแสดง บางแห่งเรียก " แขกแดง " บางแห่งเรียก " ลิเกบก " บางแห่งเรียกตัวละครที่ออกมาแสดงว่า " แขกเทศ " ลิเกป่านิยมเล่นกันในจังหวัดกระบี่ พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล และบางพื้นที่ในจังหวัดสุราษฏรธานี คำว่า " แขกแดง " ทางปักษ์ใต้หมายถึงแขกอาหรับ แต่ถ้าใช้คำว่า " เทศ " จะหมายถึงแขกอินเดีย ตัวอย่างเช่น เทศบังกลาหลี ( จากเบงกอล ) เทศคุรา เทศขี้หนู ( อินเดียตอนใต้ ) ถ้าใช้คำว่า " แขก " จะหมายถึงแขกมาลายู และแขกชวา ( อินโดนีเซีย, มาเลเซีย )
ความเป็นมาของลิเกป่า จาก หนังสือนครศรีธรรมราช ได้พูดถึงความเป็นมาของลิเกป่าเอาไว้ว่า " มีผู้กล่าวว่า ลิเกป่าได้แบบอย่างมาจากพวกแขก กล่าวคือคำว่า " ลิเก " มาจากการร้องเพลงเพื่อสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าของพวกแขกเจ้าเซ็นที่เรียกว่า " ดิเกร์ " ซึ่งเป็นภาษาเปอร์เซีย พวกเจ้าเซ็นที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย เคยได้รับพระบรมราชูปถัมภ์มากมาย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา เพราะพวกเจ้าเซ็นมีน้ำเสียงไพเราะ ร้องเพลงเป็นที่นิยมฟังกันทั่วไป ต่อมา นอกจากพวกเจ้าเซ็นแท้ ๆ แล้วที่ร้องเพลงดิเกร์ ก็มีคนไทยเริ่มหัดร้องเพลงดิเกร์กันบ้าง ซึ่งในชั้นแรกก็มีทำนองการใช้ถ้อยคำเหมือนกับเพลงสวดของแขกเจ้าเซ็น แต่เมื่อมีคนไทยนำมาร้องมาก ขึ้น ก็กลายเป็นแบบไทย และคำว่าดิเกร์ก็เพี้ยนมาเป็นลิเก หรือยี่เก แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากพิจารณาถึงเครื่องดนตรีรำมะนาที่ลิเกป่าใช้ประกอบการแสดง ชวนให้เข้าใจว่าลิเกป่าน่าจะมีต้นแบบมาจากมลายู เพราะมลายูมีกลองชนิดหนึ่งเรียกว่า " ระบานา " ซึ่งก็มีสำเนียงคล้ายกับคำว่า " รำมะนา " ของไทยเรา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ตอบคำถามในรายการ " คุยกันเรื่องเก่า ๆ " ที่กองจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ว่า มุสลิมกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า " เจ้าเซ็น " เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยามาก และกล่าวว่า " ทีนี้คนไทยเรานี้ครับ ไปเห็นพวกเจ้าเซ็นเขาเข้าไปร้องเพลงสวดฟังแล้วไพเราะ และก็สวดถวายเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน คนที่มีบุญวาสนาอื่น ๆ ก็เกิดนึกขึ้นมา เอ๊ะ ! วันเกิดเราหรืองานบ้านเราถ้าไม่มีเจ้าเซ็นมาร้องเพลงดูมันจะเบา ๆ ไป มันไม่ใหญ่ก็เลยไปเที่ยวติดต่อผู้มีอำนาจวาสนาไปพูดเข้า ก็คงเกรงกลัวอำนาจ เขาก็มาร้องเพลงสวดให้ก็เรียกว่าสวด " ดิเกลอ " นี่ละมันกลายเป็นเพลงฮิตขึ้นมา แขกร้องได้ ไทยก็ร้องดี ต่อไปแม้แต่ชาวบ้านธรรมดาอยากจะให้เจ้าเซ็นมาร้องหรือให้พร ก็ไม่ต้องไปตามที่กุฏิเจ้าเซ็นละ หาเอาข้าง ๆ บ้านนี่แหละ ไทยก็ร้องได้ ก็มาร้องเพลงแขกนี่แหละครับ อวยพรเพลงแขก อวยพรแค่นั้นจบแล้วมันก็ไม่สะอกสะใจ มันไม่ได้ดูอะไรกันต่อ ก็เริ่มร้องเพลงไทยนี่แหละ ไปตามเรื่องตามราว ในที่สุดก็เอาเรื่องละครนอกนี่ละมาเล่นและก็ดัดแปลง แต่เพื่อจะให้รู้เป็นยี่เกหรือเป็นดิเกร์นะ ก็ออกแขกก่อนบอกยี่ห้อไว้ เสร็จแล้วก็จับเรื่อง มีแยกอออกเป็นยี่เกบันตน ยี่เกอะไรก็ว่าไปจนถึงยี่เกทรงเครื่องมาจนถึงทุกวันนี้ " ซึ่งจากประเด็นนี้ น่าจะเป็นเรื่องราวความเป็นมาของลิเกทางภาคกลาง แต่มีอยู่อีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเนื้อหาลิเกภาคกลางในช่วงแรก ๆ ที่มีบางอย่างคล้ายกับลิเกป่าของปักษ์ใต้ ตามที่ สุรพล วิรุฬห์รักษ์ แห่งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำมาเขียนไว้ในหนังสือ " ลิเก " โดยคัดมาจากหนังสืออนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพพลตรีพระยาอนุภาพไตรภพ ( จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา ) ซึ่งผู้ถึงแก่กรรมเล่าเอาไว้เองว่า ได้ดูลิเกเมื่อ พ. ศ. 2435 " เท่าที่ข้าพเจ้าเคยเห็นเมื่อเป็นเด็กหลายครั้ง ลิเกเล่นเรื่องเดียว เครื่องพิณพาทย์ราดตะโพนก็ไม่เห็น ใช้แต่รำมะนา 2 - 3 ใบ เรื่องที่ลิเกเล่นจะเรียกว่ากระไร ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบอีก แต่พวกเด็ก ๆ เรียกกันว่าเรื่อง " นางหอยแครง " คือ พอเปิดฉากก็มีแขกเทศแต่งตัวด้วยเครื่องขาวล้วน ๆ แวววาวด้วยดิ้นเลื่อม ถือเทียนออกมาร้องเบิกโรง ให้ศีลให้พรแก่เจ้าของงานและคนดูแล้วก็มีตัวตลกออกมาซักถาม เป็นการเล่นตลกไปในตัว ร้องและเต้นอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมงก็เข้าโรง เขาเรียกลิเกตอนนี้ว่า " ออกแขก " ต่อจากนั้นก็ถึงชุด แขกแดง คือ แต่งตัวด้วยชุดแขกแดงสวยงาม มีบริวารออกมาด้วยหลายคน ล้วนแต่งตัวเป็นแขก กิริยาของตัวนายทำนองเป็นเจ้า คือเป็นรายาหรือสุลต่านอะไรสักอย่างหนึ่งออกมาแสดงพอสมควร ก็สั่งบริวารให้เตรียมเรือไปชมทะเล ในการชมทะเลมีการตีอวน ตอนนี้มีการเล่นตลกขบขันเด็กชอบมาก ในที่สุดหอยแครงตัวใหญ่ก็ติดแห ในหอยมีนางงามเรียกว่า " นางหอยแครง " เมื่อตัวนายเกี้ยวพาราศีนางหอยแครงเป็นที่ตกลงกันแล้วก็แล่นเรือกลับเป็นจบ เรื่อง การร้องเพลงตลอดจนการพูดดัดเสียงแปร่งเป็นแขกทั้งหมด " เนื้อหาของลิเกทางภาคกลางที่ใกล้เคียงกับลิเกป่าของปักษ์ใต้ก็คือ การออกแขกถือเทียนมาร้องเบิกโรง แนะนำตัวตัวต่อชม และบอกเรื่องราวที่จะแสดง มีบทเต้นและบทร้องในทำนองแขก แต่ระหว่างลิเกป่ากับลิเกทางภาคกลางนั้นใครจะเกิดก่อน เกิดหลัง หรือถ่ายทอดซึ่งกันและกันอย่างไร ยังหาข้อยุติไม่ได้ เป็นเรื่องที่จะต้องทำการค้นคว้ากันต่อไป
ผู้แสดงลิเกป่าและการแต่งกาย ลิเก ป่าคณะหนึ่ง ๆ จะมีประมาณ 20 - 25 คน ซึ่งรวมทั้งลูกคู่ด้วย ส่วนตัวละครที่สำคัญ ๆ ก็มี แขกแดง ยาหยี เสนา และเจ้าเมือง ส่วนที่เหลือเป็นตัวละครตามท้องเรื่องของนิยายที่แต่ละคณะจะแสดง 1. แขกแดง จะแต่งตัวนุ่งกางเกงขายาว นุ่งผ้าโสร่ง ( ผ้าถุง ) ทับด้านนอกกางเกงขายาวสูงเหนือเข่า สวมหมวกแขก แต่งแต้มหนวดเคราให้ยาวรกรุงรัง แขวนสร้อยทองสร้อยเงินหลายเส้น 2. ยาหยี แต่งตัวแบบสตรีมุสลิมในภาคใต้ หรือแต่งแบบคนไทยทางฝั่งทะเลตะวันตก ( ฝั่งอันดามัน ) คือใส่เสื้อแขนยาว นุ่งผ้าปาเต๊ะ บางคณะจะมีผ้าสไบคล้องบ่าทั้งสองข้างปล่อยชายผ้าไว้ด้านหน้า 3. เสนา แต่งตัวแบบคนรับใช้ธรรมดา 4. เจ้าเมือง แต่งตัวแบบชุดข้าราชการไทยสมัยก่อน อาจจะเป็นเสื้อราชประแตน นุ่งผ้าม่วง ปัจจุบันนิยมแต่งชุดสากล
เครื่องดนตรี มีกลองรำมะนา หรือโทน 2 - 3 ใบ โหม่ง ฉิ่ง ปี่ ซอ
เวทีการแสดง ในตอนแรก ๆ ใช้แสดงบนพื้นดิน เช่นเดียวกับมโนราในสมัยก่อน มีฉากกั้น 2 - 3 ชั้นแล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละคณะ แต่มาในระยะหลัง ๆ หากเป็นงานใหญ่ ๆ มีคนดูมาก ๆ เกรงกันว่าคนดูจะมองเห็นการแสดงไม่ทั่วถึงจึงได้มีการปลูกสร้างโรง ยกพื้นโรงแสดงให้สูงขึ้น
โอกาสที่จะแสดง โดยมากจะแสดงในงานรื่นเริง เช่น ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน งานประเพณีต่าง ๆ และงานเทศกาลประจำปี นิยมแสดงในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน หากเป็นงานใหญ่และมีคนดูมาก ๆ ก็จะแสดงจนรุ่งสว่าง แต่การแสดงออกแขก (ตามธรรมเนียมนิยมต้องออกก่อนการแสดงเรื่อง) ใช้เวลายืดหยุ่นได้ ขึ้นอยู่กับผู้ชม และผู้แสดงจะใช้ไหวพริบปฏิภาณได้ดีเพียงใดว่าคนดูจึงจะไม่เบื่อ เมื่อแสดงออกแขกจบแล้วก็จะแสดงเรื่อง ซึ่งเรื่องที่นิยมแสดงครั้งก่อน ๆ จะนิยมแสดงเรื่องเกี่ยวกับจินตนิยาย เช่น โคบุตร จันทรโครพ ลักษณาวงศ์ แต่ปัจจุบันนิยมแสดงเรื่องที่เป็นนวนิยายสมัยใหม่
เพลงรับ เพลง รับก็คือ เพลงที่ลูกคู่ใช้สำหรับร้องรับนั่นเอง กล่าวคือ เมื่อผู้แสดงจบบทร้อง 2 วรรค หรือ 1 บท ลูกคู่จะร้องรับ 1 ครั้ง ตัวอย่าง เช่น ร้องรับเพลงแขก ซายังบังเหอเบซา ซายะนาบุเรซายัง ลูกคู่จะร้องรับว่า ซายังเหอ บุเรซายัง หรือตอนยาหยีแต่งตัว แต่งเสียแต่งเสียแหละน้อง ยาหยีร่วมห้องเทศต้องพาไป ลูกคู่จะร้องรับว่า พาไปเหอ เทศต้องพาไป ตอนยาหยีลา ลาใครลาเสียแหละน้อง ยาหยีร่วมห้องเทศต้องพาไป ลูกคู่ร้องรับ พาไปเหอเทศต้องพาไป ลาเสีย ลาเสียตะน้อง คิ้วต่อคอปล้องบังต้องพาไป ลูกคู่ร้องรับ พาไปเหอ บังต้องพาไป ตอนแขกลา ลาใครลาเสียแหละบัง พี่น้องที่นั่งบังขอลาไป ลูกคู่ร้องรับ ลาไปเหอบังขอลาไป ตอนเสนาลา ลาใครลาเสียเสนา พี่น้องถ้วนหน้าเสนาลาไป ลูกคู่ร้องรับ ลาไปเหอเสนาลาไป
เนื้อเรื่องตอนออกแขกแดง เนื้อเรื่องตอนออกแขกแดง จะแสดงเหมือน ๆ กันทุกคณะ คือ จะกล่าวถึงแขกจากเมืองลักกะตา (น่าจะเป็นกัลกัตตา) เดินทางทางเรือมาทำการค้าขายตามหัวเมืองชายทะเลทางฝั่งตะวันตกของประเทศไทย (ฝั่งอันดามัน) แขกผู้นี้ได้ทำการค้าขายไปตามที่ต่าง ๆหลายเมือง จนในที่สุดได้ภรรยาเป็นคนไทยที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ต่อมาแขกคิดถึงบ้านเมืองของตน และเป็นห่วงพ่อแม่ซึ่งแก่ชรามากแล้ว จึงได้เข้าพบเจ้าเมือง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) โดยได้ขอคนงานให้ติดตามไปด้วย 1 คน เจ้าเมืองก็อนุญาต แขกกลับไปบอกยาหยี (ภรรยาของแขก) เพื่อให้เตรียมตัวเดินทางไปด้วยกัน แต่ยาหยีไม่ยอมไปเพราะเป็นห่วงพ่อแม่ และเห็นว่าการเดินทางไปนั้นเป็นระยะทางไกล แขกต้องอ้อนวอน แต่ก็ไม่สำเร็จ จนต้องทั้งขู่ทั้งปลอบยาหยีจึงยอมเดินทางไปด้วย เมื่อยาหยีจำใจยอมเดิน ทางไปด้วย แขกก็สั่งให้ยาหยีลาพ่อแม่พี่น้องตลอดถึงผู้ชม คือ ทั้งแขก ยาหยี คนรับใช้ (เสนา) ผลัดกันว่าลา ในระหว่างเดินทางแขกกลัวว่ายาหยีจะเบื่อและเหงา แขกจึงได้ชี้ชวนให้ยาหยีชมความงามของธรรมชาติ ชมปลา ชมเกาะ ชมดาว ชมสิ่งต่าง ๆ ที่ได้พบเห็นระหว่างทางจนถึงเมือง (กัลกัตตา)
ตัวอย่างบทร้อง
ตอนเริ่มเรื่อง (แขกไปหายาหยีเพื่อชักชวนกลับบ้านเมืองของแขก) " ………บังทำการค้าต้องเสียภาษี รายได้คล่องดีบังมีกำไร (กำไรเหอ บังมีกำไร) คิดจะคืนหลังยังเมืองลักกะตา จะต้องนำพายาหยีกลอยใจ (กลอยใจเหอ ยาหยีกลอยใจ) อาบังเดินตึงมาถึงหน้าห้อง ปานฉะนี้นวลน้องยังคงหลับไหล (หลับไหลเหอ ยังคงหลับไหล) ออกมาหาพี่เถิดยาหยีดวงใจ จะนำน้องไปเมืองลักกะตา (ลักกะตาเหอ ไปเมืองลักกะตา) ฯ ล ฯ
ตอนยาหยีแต่งตัว "………นางหยิบแป้งผงมาลงเลขสี่ บ่าวตามนี้รักจี้หลงไหล (หลงไหลเหอ รักจี้หลงไหล) หยิบหวีหางมาสางผมทันใด ดกดำวิไลห้อยลงตามบ่า (ตามบ่าเหอ ห้อยลงตามบ่า) แล้วหยิบกระจกขึ้นมายกส่อง แย้มดูฟันทองของน้องทอตา (ทอตาเหอ ของน้องทอตา) นางหยิบสายสร้อยแขวนห้อยหว่างถัน บังซื้อให้ฉันก่อนวันวิวาห์ (วิวาห์เหอ ก่อนวันวิวาห์) หยิบเอาสายสร้อยเข้ามาสองสาย สายหนึ่งแขวนซ้ายสายหนึ่งแขวนขวา (แขวนขวาเหอ สายหนึ่งแขวนขวา หยิบเอานาฬิกานางเข้ามาแขวน ซื้อจากอิงแลนด์เมื่อเดือนธันวา (ธันวาเหอ เมื่อเดือนธันวา) นาฬิกาตีเจ็ดแต่งเสร็จไม่ช้า นางแกวกม่านผ้าออกมาทันใด " (ทันใดเหอ ออกมาทันใด) ฯ ล ฯ
ตอนยาหยีลาไปกับแขก " …… .ยาหยีงามสรรพหยับเข้าในห้อง ก้มหน้าลงร้องจะจากพี่น้องไป (น้องไปเหอ จากพี่น้องไป) ลาสาดลาหมอนลาที่นอนของข้า ไม่แคล้วแล้วหนาแมงมุมชักใย (ชักใยเหอ แมงมุมชักใย) ลาประตูห้องช่องประตูบ้าน ลาทั้งเรือนชานตลอดทั่วครัวไฟ (ครัวไฟเหอ ตลอดทั่วครัวไฟ) ฯ ล ฯ
ตอนเสนาลา "……… อาบังลาแล้วเสนาลาเล่า ลาหนุ่มลาสาวลาเฒ่าลาแก่ (ลาแก่เหอ ลาเฒ่าลาแก่) ลาพวกเด็กเด็กเล็กเล็กมากมาก ลาคนกินหมากนั่งปากยอแย (ยอแยเหอ นั่งปากยอแย) ลาแม่ลาพ่อลาหมอตำแย ลาลูกกล้วยแก่ลาแม่ไก่ฟัก (ไก่ฟักเหอ ลาแม่ไก่ฟัก) ขอลาเหล็กขูดเคยครูดมะพร้าว หม้อแกงหม้อข้าวลาครกลาหวัก " (ลาหวักเหอ ลาครกลาหวัก) ฯ ล ฯ
ลิเกป่า หรือ แขกแดง ในปัจจุบันหาดูได้ยากมากแล้ว มีแต่นับวันจะสูญหายไป และยากแก่การที่จะทำการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ แต่ลิเกป่าก็เป็นศิลปะการละเล่นของปักษ์ใต้ ของชาวพัทลุงที่สะท้อนถึงวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนถึงการประกอบอาชีพ การทำการค้าขายในอดีตที่เราติดต่อ ทำการค้ากับชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอินเดีย และเปอร์เซีย ลิเกป่าหรือแขกแดง น่าจะเป็นเครื่องยืนยันถึงความเจริญรุ่งเรืองของดินแดนในภาคใต้ในอดีตได้อีก ประการหนึ่งมิใช่หรือ.
หนังสือที่ใช้อ้างอิง - ทอง เบิ้ม บ้านด่าน " ลิเกก็มีเค้ามาจากอิหร่าน (เปอเซีย) " ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 1 ฉบับที่ 5 โรงพิมพ์เรือนแก้วการพิมพ์ พ. ศ. 2525 หน้าที่ 25 - 39 - วิเชียร ณ นคร และคนอื่น ๆ นครศรีธรรมราช โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ พ. ศ. 2521 - ศิลปวัฒนธรรม จังหวัดพัทลุง ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง ฉบับ พ. ศ. 2526 โรงพิมพ์พัทลุง จ. พัทลุง
ที่มา:http://www.moradokthai.com
รองแง็ง
ประวัติความเป็นมา
การแสดงอีกแบบหนึ่งของชาวไทยทั้งมุสลิมและพุทธแห่งภาคใต้ แม้ว่าจะได้รับแบบอย่างมาจากฝ่ายชวา มลายู ก็ตาม นับได้ว่าเป็นศิลปการเต้นคำแบบพื้นเมืองของชาวไทยมุสลิมที่ได้รับความนิยมมาก แต่ก่อนนั้นไม่ยังแพร่หลายเข้ามาประเทศไทยมากนัก คงมีอยู่บ้างในท้องถิ่นซึ่งใกล้เคียงกับประเทศมาเลเซีย เพราะถ้าเต้นตามแบบฉบับแล้วจะไม่มีการถูกเนื้อต้องตัวกันระหว่างหญิงชาย แต่ปรากฏว่าชาวบ้านนำไปเต้นกันในท้องถิ่นของตน ได้มีการจูบเพื่อแลกเงินกันด้วย ดังพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่อง "ระยะทางเที่ยวชวากว่าสองเดือน" ทรงเรียกว่า "รองเกง" ดังนี้ "ออกไปเดินข้างนอกต่อไปดูเขาเล่น "รองเกง" กันเป็นหมู่ แรกสองวงที่หลังแยกออกเป็น 3 วง มีผู้หญิงวงละ 3 คน มีพิณพาทย์สำรับหนึ่ง ระนาดราง 1 ซอคัน 1 ฆ้องใหญ่ใบ 1 บ้าง 2 ใบบ้าง กลองรูปร่างเหมือนกลองชนะแต่อ้วนกว่าสักหน่อย มีสองหน้าเล็ก ๆ อัน 1 ผู้หญิงร้องรับพิณพาทย์ ผู้ชายเข้ารำเป็นคู่ แต่ผลัดเปลี่ยนกัน ดูท่าทางเป็นหนีไล่กันอย่างไรอยู่ ผู้หญิงไม่ใคร่จะรำเป็นแต่ร้องมากกว่า แต่ผู้ชายรำคล้าย ๆ ท่าค้างคาวกินผักบุ้ง ที่ตลกรำมีตะเกียงปักอยู่กลางวงดวงหนึ่ง รำเวียนไปรอบๆ ตะเกียง พอรัวกลองผู้ชายตรงเข้าจูบผู้หญิง ๆ ก็นิ่งเฉย ไม่เห็นบิดเบือนปัดป้องอันใด เห็นท่าทางมันหยาบอย่างไรอยู่ นึกว่าวงนั้นจะถูกเป็นคนไม่ดี ย้ายไปดูวงอื่น ก็เป็นเช่นกันอีก มาภายหลังจึงทราบว่าเป็นธรรมเนียมเขาเล่นกันเช่นนั้น การที่จะรำช้ารำเร็วนั้น ดูอยู่ในกำมือของผู้ตีกลอง ถ้ากลองไม่พรึด เมื่อไรก็ยังจูบไม่ได้ ถ้ามันตีไปยันรุ่งก็จะต้องรำไปยันรุ่ง เดี๋ยวนี้เจ้ากลองจะพรึดบ่อย ๆ มิใช่เพราะเห็นสนุก ข้างฝ่ายนางผู้หญิงที่ยอมให้จูบนั้น ก็มิใช่จะสมัครให้จูบโดยเต็มใจ ข้างฝ่ายชายที่เป็นผู้จูบนั้นใช่จะจูบด้วยความชื่นอกชื่นใจอย่างเดียว ไปกดอยู่นาน ๆ ถึงมินิดหนึ่ง 2 มินิด รวบรวมใจความเป็นเรื่องอัฐอย่างเดียวพอใครจูบแล้วต้องคว้าให้ 2 อัฐ เจ้าพิณพาทย์กับนางหญิงก็มีหุ้นส่วนกัน ถ้ามีคนจูบได้มากเท่าใดและเร็วเท่าใดยิ่งดี ข้างฝ่ายชายไหน ๆ เสียอัฐจูบให้สะใจ"
มีผู้สันนิษฐานว่า การเต้นรองเง็งนั้นน่าจะเป็นแบบอย่างของชาวตะวันตก โดยเฉพาะชาวโปรตุเกสหรือชาวดัทส์ (ฮอลันดา)
ซึ่งเคยมีอิทธิพลเหนือประเทศอินโดนีเซีย ด้วยประเทศดังกล่าวนั้นมีประเพณีการเต้นรำสำหรับวันรื่นเริงในเทศกาลต่าง ๆ อยู่แล้ว เมื่อชาวพื้นเมืองได้พบเห็นเข้าก็เกิดความพอใจ จึงมีการฝึกหัดการเต้นรำในแบบรองเกงหรือรองเง็งขึ้น ในที่สุดก็แพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็วจนเข้ามาสู่ประเทศไทย แต่ในประเทศไทยนั้น เท่าที่ไต่ถามผู้ทราบเรื่องราวเป็นอย่างดีได้อธิบายว่า การเต้นรองเง็งนั้นมาด้วยกันกับการแสดงมะโย่ง คือ เมื่อหยุดพักเหนื่อยราว 10-15 นาที ก็จะสลับการแสดงด้วยการเต้นรองเง็งนี้ โดยผู้แสดงมะโย่งนั้นเองออกมาจับคู่เต้นรำ แล้วผู้ดูก็พลอยสนุกสนานไปด้วย จึงมีการเชิญชวนเข้าร่วมวง แต่ในประเทศไทยไม่มีการจูบดังที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ที่อัญเชิญมาในตอนต้น
การเต้นรองเง็งไม่มีพิธีการหรือข้อจำกัดใด ๆ เพราะอาจแต่งกายการอย่างชาวบ้านเข้าร่วมวงได้ แต่ผู้ชายมักนิยมสวมหมวกแขก (หมวกหนีบ) สีดำหรือสวม"ชะตางัน" หรือสวมผ้าโพกแบบเดียวกับเจ้าบ่าวชาวมุสลิมเข้าพิธีแต่งงาน แต่ถ้าจะแต่งกายให้เหมาะยิ่งขึ้น ก็มักนุ่งกางเกงจีนขากว้าง หุ้มโสร่งทับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งมักทำด้วยผ้าซอแกะหรือโสร่งไหม สวมเสื้อคอกลมแขนยาวติดกระดุมตรงหน้าอก สำหรับสตรีจะสวมเสื้อแขนกระบอกเรียกว่า เสื้อบันดง เอวเข้ารูปปล่อยชายปิดตะโพก ผ่าอกตลอดและติดกระดุมทอง 5-7 เม็ด นุ่งผ้าถุงกรอมเท้า มีผ้าคลุมไหล่สีตัดกับเสื้อ
สำหรับดนตรีที่ใช้ในการเต้นรองเง็งนั้น มีไวโอลินเป็นผู้นำเสียงเพลงและอาจมีกีตาร์ผสมด้วย เครื่องประกอบจังหวะได้แก่
กลองรำมะนา แต่ปัจจุบันใช้กลองทอกับฆ้องหรือจะเพิ่มเติมอีก และอาจใช้วงดนตรีสากล ดนตรีแจ๊ส ตลอดจนวงอังกะลุงก็ได้ เพลงต่าง ๆ ที่นิยมใช้ส่วนใหญ่ใช้กัน 7 เพลง ได้แก่ เพลงลาฆูดูวอ เพลงลานัง เพลงปูโจ๊ะปิซัง เพลงจินตาซายัง เพลงอาเนาะดีดี๊ เพลงมะอีนังชวา และเพลงมะอีนังลามา เพลงต้นกับเพลงท้าย เป็นเพลงยืนพื้น เพราะเป็นเพลงที่เหมาะกับการแสดงลวดลายในการเต้นรำโดยผู้ชำนาญ
ที่มา:http://www.moradokthai.com
www.ตรังทริป.com
|